วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร


พระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน
พระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐานเดิมเรียก “ทุ่งส้มป่อย” เป็นสถานที่ทรงงานพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชทานนามพระตำหนักว่า “สวนจิตรลดารโหฐาน” ต่อมารัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้รวมสวนจิตรลดาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต
ปัจจุบันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ



วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอกทางทิศตะวันออกของพระบรมหาราชวัง ภายในไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระบรมหาราชวังและกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นการสร้างวัดในพระราชวังตามอย่างวัดพระศรีสรรเพชญ์ของกรุงศรีอยุทธยา


วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
พระปรางค์วัดอรุณฯ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ที่รู้จักกันทั่วโลก จากแผนที่เมืองธนบุรีซึ่งชาวฝรั่งเศสทำไว้ในรัชสมันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บ่งบอกว่า วัดแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา


พระที่นั่งอนันตสมาคม
พระที่นั่งอนันตสมาคมสร้างตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ แล้วเสร็จเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อเป็นที่รับรองแขกเมืองและประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะสมัยฟื้นฟู ( Renaissance ) ออกแบบโดยนายเอ็ม. ตมานโย ( M. Tamango ) สถาปนิกชาวอิตาลี


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือราชพิธี
เรือพระราชพิธีหมายถึง เรือสำหรับใช้ประกอบพิธีทางชลมารคที่เรียกว่า “ กระบวนพยุหยาตราชลมารค” ถือเป็นพระราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็คือการจัดรูปกระบวนเรือรบในแม่น้ำตามตำราพิชัยสงครามนั่นเอง



วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
ในบรรดาพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหารนั้นได้ถือว่าวัดแห่งนี้เป็น อันดับ 1 เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างพระบรมหาราชวัง ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นเพียงวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุทธยาชื่อ "วัดโพธิ์ธาราม" แต่คนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า "วัดโพธิ์" มาจนทุกวันนี้


วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
บริเวณที่ตั่งของวัดนั้นอยู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นหนึ่งในหกพระอารามสำคัญที่สุดของไทย การสร้งเป็นไปตามตำรับมหาพิชัยสงคราม โดยรัชกาลที่ 1 ทรางมีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดศูนย์กลางของกรุงเทพฯ เริ่มสร้างในปี 2350 ทรงพระราชทานนามว่า "วัดมหาสุทธาวาส" แต่คนนิยมเรียก "วัดพระโตบ้าง วัดพระใหญ่หรือวัดเสาชิงช้า"

ป้อมพระสุเมรุ
สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ตามกำแพงพระนครชั้นนอกรายล้อมแนวคลองรอบกรุงไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยแรกสร้างมี 14 ป้อมค้อ จ้กรเพชร ผีเสื้อ พระจันทร์ พระอาทิตย์ พระสุเมรุ มหากาฬ มหาชัย มหาปราบ มหายักษ์ มหาฤกษ์ ยุคนธร วิสันธร เสือทยานและหมูทะลวง ภายหลังป้อมต่าง ๆ ทรุดโทรมลงจึงรื้อทิ้งเกือบหมด คงเหลือเพียงป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ

เสาชิงช้า
แต่เดิมนั้นพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายซึ่งถือเป็นหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือนมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุทธยาเป็นราชธานี จะทำกันในเดือนอ้าย(ธ.ค.) ครั้นเมื่อถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนมาทำในเดือนยี่ (ม.ค.)

พระบรมมหาราชวัง
เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในปี 2325 ทรงให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมายังฝั่งพระนคร จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระบรมหาราชวังเป็นศูนย์กลางสำหรับพระนครใหม่

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเดินทางกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงและทางรถไฟ และมีท่าอากาศยานสำคัญถึง 2 แห่ง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างสะดวกหลายวิธี ทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน

โดยรถไฟ:
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ โดยกรุงเทพฯ มีสถานีรถไฟต้นทาง 3 แห่ง ได้แก่

สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือสถานีรถไฟหัวลำโพง สำหรับเดินทางไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง

สถานีรถไฟธนบุรี หรือสถานีรถไฟบางกอกน้อย สำหรับเดินทางไปยังภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันตก

สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ สำหรับเดินทางเลียบอ่าวไทยไปยังปากแม่น้ำท่าจีนและปากแม่น้ำแม่กลอง (รถไฟสายแม่กลอง)

สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th

โดยรถยนต์:
กรุงเทพมหานครเป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงแผ่นดินสายหลักของประเทศไทย 3 สาย ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 หรือ ถนนพหลโยธิน (สายเหนือ) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 หรือถนนสุขุมวิท (สายตะวันออก) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 หรือ ถนนเพชรเกษม (สายใต้) นักท่องเที่ยวจึงสามารถขับรถจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ ยังมีถนนสายหลักอื่นๆ ที่เป็นเส้นทางเข้าออกเมืองในทิศต่างๆ คือ

ด้านทิศเหนือ ได้แก่ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนประชาชื่น ถนนงามวงศ์วาน และถนนรามอินทรา

ด้านทิศตะวันออก ได้แก่ ถนนเพชรบุรี ถนนพระราม 9 ถนนพระราม 4 ถนนศรีนครินทร์ และถนนอ่อนนุช

ด้านทิศตะวันตก ได้แก่ ถนนบรมราชชนนี ถนนจรัลสนิทวงศ์ ถนนพุทธมณฑล และถนนวงแหวนรอบนอก

ด้านทิศใต้ ได้แก่ ถนนพระราม 2 ถนนพระราม 3 ถนนตากสิน และถนนเอกชัย

โดยรถประจำทาง:
มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของบริษัทเอกชน โดยรถออกจากสถานีขนส่งกรุงเทพทั้ง 3 แห่ง คือ สถานีขนส่งสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ หรือหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร 2 สถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี และสถานีขนส่งสายตะวันออก หรือเอกมัย ถนนสุขุมวิท

สอบถามรายละเอียดการเดินรถได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com และสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ www.thairoute.com

นอกจากนี้ยังมีบริการรถตู้ของเอกชนไปยังจังหวัด ใกล้เคียงกรุงเทพมหานคร เช่น จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี และจังหวัดนครนายก จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง เช่น บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน และบริเวณปิ่นเกล้า ถนนบรมราชชนนี เป็นต้น

โดยเครื่องบิน:
กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศของประเทศ มีท่าอากาศยานสำคัญถึง 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง

นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศได้ทุกวัน ตรวจสอบข้อมูลเที่ยวบินได้ที่

สายการบินไทย โทร. 0 2356 1111 www.thaiairways.co.th

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โทร. 0 2270 6699 www.bangkokair.com

สายการบินนกแอร์ โทร. 1318 www.nokair.com

สายการบินไทยแอร์เอเชีย โทร. 0 2515 9999 www.airasia.com

สายการบินวัน ทู โก โทร. 1126 www.fly12go.com

การเดินทางภายใน กรุงเทพมหานคร

ใน ปัจจุบัน ระบบคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานครใช้ทางบกเป็นหลัก โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งตามเส้นทางถนน เนื่องจากเข้าถึงชุมชนได้สะดวกกว่าระบบอื่น และเป็นการเดินทางโดยยานพาหนะส่วนบุคคลเป็นหลัก

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีระบบการขนส่งสาธารณะที่ได้มาตรฐานและทันสมัย การเดินทางและท่องเที่ยวภายในเมืองจึงทำได้ง่ายและสะดวกสบายแม้ไม่มีรถยนต์ ส่วนตัว เพราะมีพาหนะอื่นๆ ให้เลือกใช้มากมายหลายรูปแบบ ทั้งทางบก คือ รถแท็กซี่มิเตอร์ รถเมล์ รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊ก รถไฟ รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน และทางน้ำ คือ เรือ

รถแท็กซี่ มิเตอร์ วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารและจอดตามจุดจอดรถต่างๆ ทั่วเมือง โดยคิดอัตราค่าโดยสารตามเกณฑ์ระยะทางร่วมกับเกณฑ์ระยะเวลา มีค่าบริการพิเศษเพิ่มเติมในกรณีเรียกใช้บริการผ่านศูนย์วิทยุสื่อสาร 20 บาท ต่อเที่ยว และกรณีเรียกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ณ จุดที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กำหนดไว้ 50 บาท ต่อเที่ยว และผู้โดยสารต้องจ่ายค่าทางด่วนเอง

รถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถปรับอากาศและรถไม่ปรับอากาศ ให้บริการตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00-23.00 น. และบางสายให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นรถของทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการ ติดต่อสอบถามเส้นทางการเดินรถได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 184 หรือทางเว็บไซต์ www.bmta.co.th นอกจากนี้ยังมีรถตู้โดยสารประจำทางของเอกชนให้บริการในเส้นทางต่างๆ ทั่วเมืองด้วย

แอร์พอร์ตบัส ให้บริการระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร มี 4 เส้นทาง คือ
สาย AE1 สุวรรณภูมิ-สีลม (ทางด่วน)

สาย AE 2 สุวรรณภูมิ-บางลำภู (ทางด่วน)

สาย AE 3 สุวรรณภูมิ-ถนนวิทยุ และสุวรรณภูมิ-สุขุมวิท 3 (นานาเหนือ)

สาย AE 4 สุวรรณภูมิ-หัวลำโพง (ทางด่วน)

ค่าโดยสาร 150 บาท ตลอดสายทุกเส้นทาง
รถไฟฟ้า ใต้ดิน มีสถานีทั้งหมด 18 สถานี เริ่มจากหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกจนไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟบางซื่อ เปิดให้บริการทุกวัน ไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. โดยเก็บค่าโดยสารตามระยะการเดินทางจริงของผู้โดยสาร ตรวจสอบข้อมูลการเดินรถได้ที่เว็บไซต์ www.bangkokmetro.co.th

รถไฟฟ้า บีทีเอส มี 2 เส้นทาง คือ สายสุขุมวิทและสายสีลม เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 06.00-24.00 น. โดยเก็บค่าโดยสารตามระยะการเดินทางจริงของผู้โดยสาร ตรวจสอบข้อมูลการเดินรถได้ที่เว็บไซต์ www.bts.co.th

รถจักรยานยนต์ รับจ้างและรถตุ๊กตุ๊ก วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารและจอดตามจุดจอดรถต่างๆ ทั่วเมือง โดยคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและตามแต่ตกลง

เรือด่วน เจ้าพระยา มีบริการตลอดเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 34 ท่าเรือ โดยแยกออกเป็น 4 สาย คือ เรือด่วนประจำทาง เรือด่วนพิเศษธงส้ม เรือด่วนพิเศษธงเหลือง และเรือด่วนพิเศษธงฟ้า นอกจากนี้ยังมีบริการเรือโดยสารข้ามฟากบริเวณท่าเรือต่างๆ และมีบริการเรือหางยาวโดยสารแล่นตลอดลำคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองบางกอกน้อย และคลองต่างๆ ด้วย สอบถามข้อมูลการเดินทางของเรือด่วนเจ้าพระยาได้ที่โทร. 0 2623 6143 เว็บไซต์ www.chaophrayaboat.co.th

การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการ เดินรถไฟไปตามสถานีรถไฟชานเมืองภายในเขตกรุงเทพฯ ได้แก่ สายเหนือและสายอีสาน วิ่งไปถึงสถานีรถไฟดอนเมือง สายตะวันออก วิ่งไปถึงสถานีรถไฟหัวตะเข้ และสายใต้ วิ่งไปถึงสถานีรถไฟตลิ่งชัน สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th


วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพฯ หรือ บางกอก เมืองหลวงของประเทศไทย เริ่มก่อตั้งภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงครอง ราชย์ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันเสาร์ ที่ 6 เมษายน เดือน 5 แรม 9 ค่ำ ปีขาล พ.ศ. 2325 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก เนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดีกว่ากรุงธนบุรีเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวคู เมืองทางด้านตะวันตก และด้านใต้

อาณาเขตของกรุงเทพฯ ในขั้นแรกถือเอาแนวคูเมืองเดิมฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี คือ แนวคลองหลอด ตั้งแต่ปากคลองตลาดจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า เป็นบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ มีพื้นที่ประมาณ 1.8 ตารางกิโลเมตร

บริเวณที่สร้างพระราชวังนั้นเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชเศรษฐี และชาวจีน ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง ในการก่อสร้างพระราชวังโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิบดี กับพระยาวิจิตรนาวีเป็นแม่กองคุมการก่อสร้าง ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที (21 เมษายน 2325) พระราชวังแล้วเสร็จ เมื่อพ.ศ. 2328 จึงได้จัดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบแผน รวมทั้งงานฉลองพระนคร โดยพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยน คำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” และในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้รวมจังหวัด ธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันกับกรุงเทพฯ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม