วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเดินทางกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงและทางรถไฟ และมีท่าอากาศยานสำคัญถึง 2 แห่ง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างสะดวกหลายวิธี ทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน

โดยรถไฟ:
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ โดยกรุงเทพฯ มีสถานีรถไฟต้นทาง 3 แห่ง ได้แก่

สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือสถานีรถไฟหัวลำโพง สำหรับเดินทางไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง

สถานีรถไฟธนบุรี หรือสถานีรถไฟบางกอกน้อย สำหรับเดินทางไปยังภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันตก

สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ สำหรับเดินทางเลียบอ่าวไทยไปยังปากแม่น้ำท่าจีนและปากแม่น้ำแม่กลอง (รถไฟสายแม่กลอง)

สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th

โดยรถยนต์:
กรุงเทพมหานครเป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงแผ่นดินสายหลักของประเทศไทย 3 สาย ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 หรือ ถนนพหลโยธิน (สายเหนือ) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 หรือถนนสุขุมวิท (สายตะวันออก) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 หรือ ถนนเพชรเกษม (สายใต้) นักท่องเที่ยวจึงสามารถขับรถจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ ยังมีถนนสายหลักอื่นๆ ที่เป็นเส้นทางเข้าออกเมืองในทิศต่างๆ คือ

ด้านทิศเหนือ ได้แก่ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนประชาชื่น ถนนงามวงศ์วาน และถนนรามอินทรา

ด้านทิศตะวันออก ได้แก่ ถนนเพชรบุรี ถนนพระราม 9 ถนนพระราม 4 ถนนศรีนครินทร์ และถนนอ่อนนุช

ด้านทิศตะวันตก ได้แก่ ถนนบรมราชชนนี ถนนจรัลสนิทวงศ์ ถนนพุทธมณฑล และถนนวงแหวนรอบนอก

ด้านทิศใต้ ได้แก่ ถนนพระราม 2 ถนนพระราม 3 ถนนตากสิน และถนนเอกชัย

โดยรถประจำทาง:
มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของบริษัทเอกชน โดยรถออกจากสถานีขนส่งกรุงเทพทั้ง 3 แห่ง คือ สถานีขนส่งสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ หรือหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร 2 สถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี และสถานีขนส่งสายตะวันออก หรือเอกมัย ถนนสุขุมวิท

สอบถามรายละเอียดการเดินรถได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com และสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ www.thairoute.com

นอกจากนี้ยังมีบริการรถตู้ของเอกชนไปยังจังหวัด ใกล้เคียงกรุงเทพมหานคร เช่น จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี และจังหวัดนครนายก จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง เช่น บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน และบริเวณปิ่นเกล้า ถนนบรมราชชนนี เป็นต้น

โดยเครื่องบิน:
กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศของประเทศ มีท่าอากาศยานสำคัญถึง 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง

นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศได้ทุกวัน ตรวจสอบข้อมูลเที่ยวบินได้ที่

สายการบินไทย โทร. 0 2356 1111 www.thaiairways.co.th

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โทร. 0 2270 6699 www.bangkokair.com

สายการบินนกแอร์ โทร. 1318 www.nokair.com

สายการบินไทยแอร์เอเชีย โทร. 0 2515 9999 www.airasia.com

สายการบินวัน ทู โก โทร. 1126 www.fly12go.com

การเดินทางภายใน กรุงเทพมหานคร

ใน ปัจจุบัน ระบบคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานครใช้ทางบกเป็นหลัก โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งตามเส้นทางถนน เนื่องจากเข้าถึงชุมชนได้สะดวกกว่าระบบอื่น และเป็นการเดินทางโดยยานพาหนะส่วนบุคคลเป็นหลัก

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีระบบการขนส่งสาธารณะที่ได้มาตรฐานและทันสมัย การเดินทางและท่องเที่ยวภายในเมืองจึงทำได้ง่ายและสะดวกสบายแม้ไม่มีรถยนต์ ส่วนตัว เพราะมีพาหนะอื่นๆ ให้เลือกใช้มากมายหลายรูปแบบ ทั้งทางบก คือ รถแท็กซี่มิเตอร์ รถเมล์ รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊ก รถไฟ รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน และทางน้ำ คือ เรือ

รถแท็กซี่ มิเตอร์ วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารและจอดตามจุดจอดรถต่างๆ ทั่วเมือง โดยคิดอัตราค่าโดยสารตามเกณฑ์ระยะทางร่วมกับเกณฑ์ระยะเวลา มีค่าบริการพิเศษเพิ่มเติมในกรณีเรียกใช้บริการผ่านศูนย์วิทยุสื่อสาร 20 บาท ต่อเที่ยว และกรณีเรียกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ณ จุดที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กำหนดไว้ 50 บาท ต่อเที่ยว และผู้โดยสารต้องจ่ายค่าทางด่วนเอง

รถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถปรับอากาศและรถไม่ปรับอากาศ ให้บริการตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00-23.00 น. และบางสายให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นรถของทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการ ติดต่อสอบถามเส้นทางการเดินรถได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 184 หรือทางเว็บไซต์ www.bmta.co.th นอกจากนี้ยังมีรถตู้โดยสารประจำทางของเอกชนให้บริการในเส้นทางต่างๆ ทั่วเมืองด้วย

แอร์พอร์ตบัส ให้บริการระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร มี 4 เส้นทาง คือ
สาย AE1 สุวรรณภูมิ-สีลม (ทางด่วน)

สาย AE 2 สุวรรณภูมิ-บางลำภู (ทางด่วน)

สาย AE 3 สุวรรณภูมิ-ถนนวิทยุ และสุวรรณภูมิ-สุขุมวิท 3 (นานาเหนือ)

สาย AE 4 สุวรรณภูมิ-หัวลำโพง (ทางด่วน)

ค่าโดยสาร 150 บาท ตลอดสายทุกเส้นทาง
รถไฟฟ้า ใต้ดิน มีสถานีทั้งหมด 18 สถานี เริ่มจากหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกจนไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟบางซื่อ เปิดให้บริการทุกวัน ไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. โดยเก็บค่าโดยสารตามระยะการเดินทางจริงของผู้โดยสาร ตรวจสอบข้อมูลการเดินรถได้ที่เว็บไซต์ www.bangkokmetro.co.th

รถไฟฟ้า บีทีเอส มี 2 เส้นทาง คือ สายสุขุมวิทและสายสีลม เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 06.00-24.00 น. โดยเก็บค่าโดยสารตามระยะการเดินทางจริงของผู้โดยสาร ตรวจสอบข้อมูลการเดินรถได้ที่เว็บไซต์ www.bts.co.th

รถจักรยานยนต์ รับจ้างและรถตุ๊กตุ๊ก วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารและจอดตามจุดจอดรถต่างๆ ทั่วเมือง โดยคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและตามแต่ตกลง

เรือด่วน เจ้าพระยา มีบริการตลอดเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 34 ท่าเรือ โดยแยกออกเป็น 4 สาย คือ เรือด่วนประจำทาง เรือด่วนพิเศษธงส้ม เรือด่วนพิเศษธงเหลือง และเรือด่วนพิเศษธงฟ้า นอกจากนี้ยังมีบริการเรือโดยสารข้ามฟากบริเวณท่าเรือต่างๆ และมีบริการเรือหางยาวโดยสารแล่นตลอดลำคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองบางกอกน้อย และคลองต่างๆ ด้วย สอบถามข้อมูลการเดินทางของเรือด่วนเจ้าพระยาได้ที่โทร. 0 2623 6143 เว็บไซต์ www.chaophrayaboat.co.th

การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการ เดินรถไฟไปตามสถานีรถไฟชานเมืองภายในเขตกรุงเทพฯ ได้แก่ สายเหนือและสายอีสาน วิ่งไปถึงสถานีรถไฟดอนเมือง สายตะวันออก วิ่งไปถึงสถานีรถไฟหัวตะเข้ และสายใต้ วิ่งไปถึงสถานีรถไฟตลิ่งชัน สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th